Sunday, February 10, 2013

การปฏิบัติในช่วงผลแก่และเก็บเกี่ยว

การปฏิบัติในช่วงผลแก่และเก็บเกี่ยว



กุมภาพันธ์

เป็นระยะผลเริ่มแก่และเก็บเกี่ยว นับเวลาจากดอกบานถึงผลแก่ ประมาณ 75 วัน ขึ้นกับพันธุ์และสิ่งแวดล้อม (อุณหภูมิความชื้น)
 การให้น้ำ ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและลดปริมาณให้น้อยลงเมื่อผลเริ่มแก่ แต่ต้องสม่ำเสมอเพื่อป้องกันผลแตกเมื่อมีฝนหลงฤดู
 การใส่ปุ๋ย ในระยะที่มะปรางเริ่มเข้าไคล ควรใส่ปุ๋ยเพิ่มคุณภาพของผล คือใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 อัตรา 1-2 กิโลกรัม/ ตัน
 และปุ๋ยทางใบ สูตร 13-0-46 หรือ 10-20-30 อัตรา 2-3 ช้อนแกง/ น้ำ 20 ลิตร ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 1 สัปดาห์ การป้องกันและ
กำจัดโรคแมลง ควรมีการห่อผลเพื่อป้องกันแมลงวันผลไม้ และนกจิกกิน

กุมภาพันธ์ - มีนาคม
เป็นระยะการเก็บเกี่ยวผลผลิต การเก็บเกี่ยว ควรเก็บเกี่ยวผลที่แก่ คือมีลักษณะบริเวณขั้วของผลจะมีสีเหลืองเข้ม
โดยใช้เครื่องมือที่เหมาะสม เก็บผลให้มีก้านติดมาด้วยอย่างน้อย 4-5 เซนติเมตร แล้วนำมาไว้ที่ร่ม
ระวังจะช้ำเนื่องจากมะปรางเป็นผลไม้ผิวบาง



การขยายพันธุ์มะปราง / มะยงชิด

 
มะปรางเป็นไม้ผลที่มีการเจริญเติบโตช้า ขยายพันธุ์ได้ยากและใช้เวลาในการขยายพันธุ์ยาวนานกว่าไม้ผลที่สำคัญบางชนิด
เช่น มะม่วง ส้มโอ และขนุน อย่างไรก็ตามมะปรางสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การตอน การทาบกิ่ง
 การต่อกิ่ง การติดตา และการปักชำ ซึ่งการเพาะเมล็ดมีข้อจำกัดตรงที่มีการกลายพันธุ์จากมะปรางหวานอาจกลายเป็น
มะปรางเปรี้ยวหรือหวานอมเปรี้ยว และจากมะปรางผลใหญ่อาจกลายเป็นมะปรางชนิดผลเล็ก มีส่วนน้อยที่การกลายพันธุ์
ไปในทางที่ดีกว่าต้นพ่อแม่พันธุ์ และนอกจากนี้การปลูกจากต้นเพาะเมล็ดจะใช้เวลาประมาณ 8 ปี จึงจะเริ่มออกดอกติดผล
 การตอนมีข้อจำกัดตรงที่กิ่งตอนจะไม่มีรากแก้ว จะต้องมีการเสริมรากภายหลัง ส่วนการทาบกิ่ง การต่อกิ่งและการติดตา
จะต้องดำเนินการเพาะต้นตอมะปรางก่อน และการปักชำนั้นจะได้ต้นกล้าที่ไม่มีรากแก้ว จะต้องมีการเสริมมากภายหลังเช่นกัน
การ ขยายพันธุ์มะปรางที่นิยมปฏิบัติกันมากในขณะนี้จะเป็นการทาบกิ่งและการต่อ กิ่ง ซึ่งการขยายพันธุ์แต่ละวิธีมีวิธีการปฏิบัติดังต่อไปนี้

การเพาะเมล็ด
การขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นวิธีที่ง่ายและสามารถขยายพันธุ์มะปรางได้จำนวนมาก มีข้อเสียที่มีการกลายพันธุ์

การตอน
เป็นวิธีการทำให้มะปรางออกรากในขณะที่กิ่งยังติดอยู่กับต้นพันธุ์ดี เป็นวิธีที่ปฏิบัติมานานแล้ว แต่มีข้อจำกัดที่กิ่ง
ตอนไม่มีรากแก้ว การเพาะเมล็ดหรือต้นทาบกิ่งอาจเจริญเติบโตช้า หรือโค่นล้มได้ง่าย

การทาบกิ่ง
เป็นวิธีการขยายพันธุ์มะปรางที่นิยมปฏิบัติมากที่สุดเพราะจะได้ต้นมะปรางพันธุ์ดีที่ระบบรากแก้วจากต้นตอ
สามารถคัดเลือกกิ่งพันธุ์ดีได้ค่อนข้างใหญ่และยาวกว่ากิ่งปักชำ ให้มีการกลายพันธุ์และให้ผลผลิตเร็วประมาณ 4 - 5 ปี
หลังจากปลูก นอกจากนี้การทาบกิ่งมะปรางให้เทคนิคและความชำนาญน้อยกว่าการต่อยอด และการติดตา
ทั้งนี้เพราะทั้งกิ่งพันธุ์และต้นตอมะปรางต่างก็มีรากคอยเลี้ยงต้นเดิม อยู่แล้ว โดยที่ต้นตอมะปรางที่ใช้ทาบกิ่ง
จะปลูกอยู่หรือถูกอัดขุยมะพร้าวที่มีความชื้นอยู่เสมอในถุงพลาสติกหรือในภาชนะพลาสติกขนาดเล็ก
ส่วนของกิ่งพันธุ์ดีก็เป็นต้นมะปรางที่ปลูกอยู่กับต้นอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามการทาบกิ่งมีข้อจำกัดตรงที่จะต้อง
มีการเพาะกล้าต้นมะปรางเป็นต้นตออายุ 6 เดือน - 1 ปีก่อน จึงนำมาทาบกิ่งได้

การต่อกิ่งหรือการเสียบยอด
การต่อกิ่ง หรือการเปลี่ยนยอดมะปราง เป็นวิธีการขยายพันธุ์มะปรางที่นิยมปฏิบัติมากอีกวิธีหนึ่ง สามารถขยายพันธุ์ได้ปริมาณมาก
และเป็นการประหยัดกิ่งพันธุ์ดีหรือยอดพันธุ์ดีได้ดีกว่าการตอนและการทาบกิ่ง

การติดตา
เป็นการนำตาของมะปรางที่สมบูรณ์เพียงตาเดียวจากต้นพันธุ์ดีไปสอดใส่ลงบนส่วนของมะปรางอีกต้นหนึ่งซึ่งเป็นต้นตอ
และเมื่อส่วนของมะปรางทั้งสองเชื่อมติดกันและเจริญเติบโตเป็นต้นเดียวกันแล้ว จากตาพันธุ์ดีเพียงตาเดียวจะทำหน้าที่
เป็นยอดของต้นใหม่และมีส่วนต้นตอเป็นรากของมะปรางต้นใหม่ด้วย ต้นตอมะปรางที่จะนำมาติดตานั้นควรเป็นต้นตอ
ที่ใส่ถุงเลี้ยงอยู่ในเรือนเพาะชำอายุ 1 - 2 ปี หรือเป็นต้นตอเพาะเมล็ดที่ปลูกลงแปลง ในสภาพสวนแล้ว 1 - 2 ปี
ก็สามารถติดตาได้ การติดตามะปรางนั้นต้องใช้ความชำนาญค่อนข้างสูง ตามะปรางบอบซ้ำได้ง่าย ผู้ติดตาต้องใช้มีดที่คม
สะอาดและปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง

การปักชำ
มะปรางเป็นไม้ผลที่มีกิ่งหรือยอดเล็ก ๆ จำนวนมาก สามารถนำมาปักชำให้ออกรากเป็นมะปรางต้นใหม่ได้
ไม่มีการกลายพันธุ์ประหยัดยอดพันธุ์ได้ดีกว่าการตอนและการทาบกิ่ง และสามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนมาก

 


0 comments:

Post a Comment